อึ้ง! ไทย 17 ใน 100 คน ป่วย ‘ไตเรื้อรัง’ แพทย์แนะป้องกันก่อนสายเกินแก้ กลุ่มเสี่ยงควรตรวจสุขภาพปีละ 2 ครั้ง

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นพ.ปรัชญา พุมอุทัยวิรัตน์ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคไต
โรงพยาบาล (รพ.) จุฬาภรณ์

เปิดเผยถึงสถานการณ์ของการเจ็บป่วยด้วยโรคไต ว่า
โรคไตแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มโรคไตวายเฉียบพลัน ซึ่งจะไม่ค่อยมีปัญหาในการดูแลรักษายาว เนื่องจากเป็นเหตุเฉียบพลัน เมื่อได้รับการรักษาแล้วก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้

และ กลุ่มโรคไตเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขในระดับโลก สาเหตุเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของไตลดลงต่ำกว่าร้อยละ 60 ติดต่อกันมากว่า 3 เดือน ซึ่งจะตามมาด้วยปัญหาไตเสื่อมระยะสุดท้าย ที่จะต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนไตในที่สุด

ทั้งนี้ อุบัติการณ์เกิดโรคไตเรื้อรังในคนไทย ราวร้อยละ 17 หรือในประชากร 100 คน จะมีคนป่วยเป็นไตเรื้อรังถึง 17 คน ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก

สาเหตุหลักของการเกิดโรคไตเรื้อรังมี 3 ประการ คือ
1. ร้อยละ 40 เกิดจากการป่วยเป็นโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
2. ร้อยละ 30 เกิดในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะรสชาติเค็มจัด
3. ร้อยละ 10 เกิดจากการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ การใช้ยาต้ม ยาหม้อ ยาสมุนไพร และ ร้อยละ 20 เกิดจากภาวะไตอักเสบ โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องตรวจร่างกายโดยการเจาะชิ้นเนื้อไตไปตรวจหาสาเหตุ